Thursday, March 23, 2023

ป.ป.ช. ตรวจสอบจุดกลับรถใต้สะพาน บริเวณหน้าเทศบาลสว่างวัฒนา อ.ศรีเทพ งบประมาณกว่า 20 ล้าน ก่อสร้างแล้ว ไม่ได้ใช้งานกว่า 2 ปี

         


          สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 6 ร่วมกับ สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดเพชรบูรณ์ ปฏิบัติการเชิงรุก ตรวจสอบจุดกลับรถใต้สะพาน บริเวณหน้าเทศบาลสว่างวัฒนา อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ งบประมาณจำนวนกว่า 20 ล้าน ที่ก่อสร้างแล้ว ไม่ได้ใช้งานกว่า 2 ปี

         วันที่ 22 มีนาคม 2566 นายวิวัฒน์  เจริญฉ่ำ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 6  นางสาวนุชจรินทร์  อินประถม ผอ. สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดเพชรบูรณ์ และชมรม Strong-จิตพอเพียงต้านทุจริต จังหวัดเพชรบูรณ์ ลงพื้นที่ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อดำเนินการตรวจสอบการก่อสร้างจุดกลับรถใต้สะพาน บนทางหลวงหมายเลข 21 (สระบุรี-หล่มสัก) บริเวณด้านหน้า สำนักงานเทศตำบลสว่างวัฒนา  





      โครงการดังกล่าวก่อสร้างในปีงบประมาณ 2564 แล้วเสร็จมาประมาณเกือบ 2 ปี แต่ยังไม่สามารถใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์ ทั้งนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรตามที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อทั่วไป  สาเหตุที่ไม่สามารถใช้งานได้ เนื่องจากมีน้ำท่วมขังในเส้นทางจาราจร ที่จุดกลับรถใต้สะพานตลอดทั้งปี ทางราชการเกรงว่าจะเป็นอันตรายกับผู้ใช้เส้นทางสัญจรจึงได้ทำการปิดกั้นเส้นทางเอาไว้ ห้ามประชาชนใช้เส้นทางโดยเด็ดขาด

         การประชุมเพื่อรับทราบข้อมูลในเบื้องต้น ณ ห้องประชุมเทศบาลตำบลสว่างวัฒนา ก่อนลงตรวจสอบพื้นที่ก่อสร้าง ผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย นายชาญวิทย์  จันทร์ทับ  ผู้อำนวยการแขวงการทางเพชรบูรณ์ที่ 2 (บึงสามพัน) นายวีระวัฒน์ วัฒนวงศ์พฤกษ์ นายอำเภอศรีเทพ และ นายโกวิท โลเกศเสถียร นายกเทศมนตรีตำบลสว่างวัฒนา  




จากการให้ข้อมูล ของผู้อำนวยการแขวงทางหลวงเพชรบูรณ์ที่ 2 และเทศบาลตำบลสว่างวัฒนา โดยนายโกวิท โลเกศเสถียร นายกเทศมนตรี   พบว่าการก่อสร้างในจุดดังกล่าว แขวงทางหลวงเพชรบูรณ์ที่ 2 ได้ตรวจสอบจากภาพถ่ายทางอากาศว่าเป็นลำรางสาธารณะ โครงการฯเพื่อเป็นการปรับปรุงเส้นทางเดิม โดยไม่มีการขยายพื้นที่ จึงไม่จำเป็นต้องทำประชาพิจารณ์ ก่อนที่จะทำการก่อสร้าง 

       การลงพื้นที่ตรวจสอบ พบว่า จุดดังกล่าวก็ยังคงปิดกั้นไม่ให้ประชาชนใช้งานและยังมีน้ำท่วมขังเต็มพื้นที่แม้ว่าจะเป็นเดือนมีนาคม ที่เริ่มเข้าสู่ฤดูแล้งแล้วก็ตาม ซึ่งขัดแย้งกับข้อมูลเบื้องต้นที่ แขวงทางหลวงเพชรบูรณ์ที่ 2 แจ้งว่า จากการเก็บสถิติ ระยะเวลา 5 ปี  ก่อนทำการก่อสร้างจะมีน้ำท่วมขังเพียง 1 เดือนต่อปี ในฤดูน้ำหลากเท่านั้น ปัจจุบันพบว่า ไม่มีร่องรอยการใช้งาน หรือแม้แต่การบำรุงรักษาพื้นที่ซึ่งเต็มไปด้วยต้นหญ้ารก ปล่อยให้ทิ้งร้างมากกว่าที่จะพยายามแก้ปัญหาเพื่อให้ประชาชนสามารถใช้งานได้ตามปกติ ซึ่งจุดกลับรถใต้สะพานนี้เป็นพื้นที่รับผิดชอบของ แขวงทางหลวงเพชรบูรณ์ที่ 2 จึงได้ร่วมกันหลายฝ่ายเพื่อปรึกษาหารือและร่วมกันแก้ปัญหา 

ในเบื้องต้นแขวงการทางเพชรบูรณ์ที่ 2 (บึงสามพัน) จะดำเนินการสูบน้ำออกจากพื้นที่ไปเก็บในคลองน้ำใกล้เคียง ให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน คาดว่าจะสามารถแก้ปัญหาในระยะสั้นได้ เพื่อให้จุดกลับรถดังกล่าวสามารถใช้งานได้ก่อนในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดเพชรบูรณ์ จะเป็นผู้ติดตามความคืบหน้าและรายงานให้ทราบต่อไป

หากพบเห็นโครงการที่ถูกทิ้งร้าง หรือสร้างแล้วไม่สามารถใช้งานได้ สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่ สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดเพชรบูรณ์ โทร. 056-725515 หรือ สำนักงาน ป.ป.ช.ภาค 6

          ขอขอบคุณ​ภาพ/ข่าว สำนักงาน ป.ป.ช.จ.เพชรบูรณ์​

https://www.nacc.go.th/phetchabun/categorydetail/2021031509234057/20230322163752?

Wednesday, March 22, 2023

เริ่มแล้ว! งานสมโภชศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเพชรบูรณ์​1,002 ปี

 




เริ่มแล้ว! งานสมโภชศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเพชรบูรณ์​1,002 ปี
... เมื่อวันพุธที่ 22 มีนาคม 2566​ นายกฤษณ์ คงเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นประธานในการประกอบพิธีเปิดงานสมโภชศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเพชรบูรณ์​ โดยมีผู้มีเกียรติทั้งส่วนราชการและภาคเอกชน ตลอดทั้งพี่น้องประชาชนร่วมงานเป็นจำนวนมาก การจัดงานดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22 - 31 มีนาคม 2566 ณ บริเวณศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเพชรบูรณ์ อ.เมือง​เพชรบูรณ์​


ทั้งนี้ ในวันนี้เป็นแรกของการจัดงาน ได้มีพิธีสักการะทางจีนสมโภช 1002 ปี ศรีหลักเมืองเพชรบูรณ์ ณ ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นพิธีสำคัญใน 7 พิธี เพื่อฉลองสมโภชถวายองค์เจ้าพ่อหลักเมืองเพชรบูรณ์ ในการนี้องค์ฮ้อเซี๊ยโจ้ว ได้ลิขิตบทกลอน กีบุ๊ง อันเป็นมงคงถวายแด่องค์เจ้าพ่อหลักเมือง และมีการแสดงมังกร สิงโต เฉลิมฉลองสมโภชทั้งกลางวันและกลางคืนอีกด้วย


         สำหรับ การจัดงานสมโภชเสาหลักเมือง 1002 ปี จัดขึ้น ณ บริเวณหน้าหอโบราณคดีเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย (ศาลากลางหลังเก่า) อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ ระหว่างวันที่ 22-31 มีนาคม 2566  มีการแสดง วงดนตรี แสง สี เสียงทุกค่ำคืน
         อนึ่ง ประวัติหลักเมืองเพชรบูรณ์​นี้  บันทึกการขึ้นทะเบียนโบราณสถานโบราณวัตถุของกรมศิลปากร สันนิษฐานได้ว่า ศิลาจารึกนี้ ครั้งแรกน่าจะถูกนำมาจากเมืองโบราณศรีเทพ มาไว้ที่วัดมหาธาตุก่อน หลังจากนั้น ก็ได้นำมายกเป็นเสาหลักเมืองเพชรบูรณ์ โดยหลวงนิกรเกียรติคุณ เมื่อ พ.ศ. 2443 โดยได้เลือกนำมาปักไว้ที่ป้อมกำแพงเมืองทิศตะวันตกเฉียงใต้ของแนวกำแพงเมืองโบราณ เพราะเป็นบริเวณที่อยู่หน้าศาลากลางจังหวัด เมื่อ พ.ศ.2548 เมื่อมีการปรับปรุงก่อสร้างอาคารศาลหลักเมืองครั้งใหญ่ ได้มีการค้นพบว่า เสาหลักเมืองเพชรบูรณ์ เป็นศิลาจารึก ทำด้วยแท่งเสาหินทรายสีเทา มีลักษณะปลายป้านโค้งมน มีความสูงจากฐานล่างถึงปลายยอด 185 เซนติเมตร กว้าง 30 เซนติเมตร ความหนาประมาณ 15-16 เซนติเมตร ปลายฐานด้านล่างสุดมีลักษณะแผ่ขยายออกคล้ายวงกลมแบน

           ทั้งนี้ กรมศิลปากรได้ทำการอ่านและแปลศิลาจารึกเสาหลักเมืองเพชรบูรณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้วโดยสรุปได้ความว่า เป็นการจารึกลงในเสาหินใน 2 ยุคด้วยกัน คือ ครั้งแรกเป็นการจารึกในด้านที่ 1 เป็นอักษรขอมโบราณ ภาษาสันสกฤต มีข้อความ 22 บรรทัด จารึกเมื่อมหาศักราช 943 ตรงกับพุทธศักราช 1564 เป็นข้อความการสรรเสริญพระศิวะในศาสนาพราหมณ์ ส่วนการจารึกครั้งที่ 2 เป็นการจารึกใหม่ในด้าน 3 ด้านที่เหลือ เมื่อจุลศักราช 878 ตรงกับพุทธศักราช 2509 เป็นอักษรขอม ภาษาไทย บาลีและเขมร เป็นข้อความเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา และมีข้อความที่ให้ช่วยกันสืบสานพระพุทธศาสนาให้ได้ 5,000 ปี โดยการนับระยะเวลาอายุของแท่งหินที่เป็นเสาหลักเมืองเพชรบูรณ์นี้เริ่มตั้งแต่มีการแกะสลักโดยมนุษย์ ตั้งแต่มีการสลักหินออกมาเป็นแท่งจนมีการจารึกตัวอักษรบนแท่งหินในครั้งแรก ซึ่งก็น่าจะใช้เวลายาวนานพอสมควรไม่อาจกำหนดวันเดือนที่แน่นอนได้ จึงใช้การนับเวลาอายุแท่งศิลานี้แบบปีชนปี คือ เมื่อมีบันทึกว่ามีการแกะสลักครั้งแรก พ.ศ. 1564 เมื่อเวลาเวียนมาถึง พ.ศ. 2566 จึงครบเวลา 1,002 ปี 

           ติดตามคลิปการจัดงานได้ที่ https://fb.watch/jqCSidLwfo/

           ติดตามภาพข่าวจากเทศบาลเมือง​เพชรบูรณ์​ได้ที่ https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=579695190856727&id=100064487540312&mibextid=Nif5oz

Monday, March 20, 2023

จังหวัดเพชรบูรณ์จัดเลือกตั้ง สมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ ประเภทผู้แทนเกษตรกรจังหวัด ปี 2566 จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งแบ่งเป็น 16 เขตใน 11 อำเภอ โดยมีผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการแล้วครบทุกเขต

 


จังหวัดเพชรบูรณ์จัดเลือกตั้ง สมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ ประเภทผู้แทนเกษตรกรจังหวัด ปี 2566 จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งแบ่งเป็น 16 เขตใน 11 อำเภอ โดยมีผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการแล้วครบทุกเขต

          เมื่อวันอาทิตย์ที่ 19 มีนาคม 2566 จังหวัดเพชรบูรณ์โดยการนำของนายกฤษณ์ คงเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้มอบหมายให้นายชัชวาล เบญจสิริพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพร้อมคณะ จัดให้มีการเลือกตั้งผู้แทนเกษตรกรจังหวัดเพชรบูรณ์ ในแต่ละเขตเลือกตั้ง ทั้ง 11 อำเภอ โดยได้มีการเตรียมการและติดตามการเลือกตั้งอย่างใกล้ชิด  และปรากฏผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการทั้ง 11 อำเภอแล้ว 



            ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ ได้แก่ 1) อำเภอชนแดน นายวิทยา ลิ้มทองไพศาล  2) อำเภอน้ำหนาว นายกาวี คำสิงห์  3) อำเภอบึงสามพัน นายกาจเดชา จงใจพระ  4) อำเภอวังโป่ง นายพรชัย พรมภักดี   5) อำเภอวิเชียรบุรี นายสมประสงค์ อินทะนู และนางสาว ฐิติรัรัตน์ พรมนอก   6) อำเภอศรีเทพ นายประจวบ นาคเทียน  7) อำเภอหนองไผ่ นายเฉลียว อักษรวิลัย และ นายสุวรรณ จงใจมั่น  8) อำเภอหล่มสัก นายยอด อินเทพ  และ นายรุจน์ เพชรประทุม  9) อำเภอหล่มเก่า นายอภิเดช เหง้าสารี และ นายวิชาญ แก้วยม  10) อำเภอเขาค้อ นายสุทธิพงค์ พลสยม  11) อำเภอเมืองเพชรบูรณ์​ นายเทพ เพียมะลัง และนายจรุง เหล็กสีนาค    

         อนึ่ง การเลือกตั้งดังกล่าว มีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 274,906 คน  มีผู้มาใช้สิทธิ์ 69,812 คน จำนวนบัตรดี(มีคะแนน) จำนวน 63,812 บัตร  จำนวนบัตรดี(ไม่ประสงค์ลงคะแนน) จำนวน 764 บัตร  และจำนวนบัตรเสีย 4,440 บัตร

         ทั้งนี้มีการประกาศผลอย่างเป็นทางการในลำดับถัดไป

          ติดตามภาพประกอบข่าวได้ที่ https://m.facebook.com/groups/508338716343704/permalink/1582777125566519/?mibextid=Nif5oz













สมาคมข้าราชการบำนาญเพชรบูรณ์​ร่วมประชุมสมาพันธ์ข้าราชการบำนาญภาคเหนือ 16 จังหวัด ครั้งที่ 1/2566 ที่ จ.นครสวรรค์​ มีมติขับเคลื่อนประโยชน์สมาชิก อาจส่งผลทั่วประเทศ

 



สมาคมข้าราชการบำนาญเพชรบูรณ์​ร่วมประชุมสมาพันธ์ข้าราชการบำนาญภาคเหนือ 16  จังหวัด ครั้งที่ 1/2566 ที่ จ.นครสวรรค์​ มีมติขับเคลื่อนประโยชน์สมาชิก อาจส่งผลทั่วประเทศ...... 

          เมื่อวันเสาร์ที่ 18 มีนาคม 2566 นายประดิษฐ์ บุญยอด เลขานุการสมาคมข้าราขการบำนาญเพชรบูรณ์​ว่าที่นายกสมาคมฯ คนใหม่ นำคณะผู้แทนสมาชิกของสมาคมฯ เข้าร่วมการประชุมสมาพันธ์​ข้าราขการบำนาญภาคเหนือ 16​ จังหวัด ครั้งที่ 1/2566 ณ ห้องประชุมสำนักงาน สกสค.จังหวัดนครสวรรค์​ และร่วมลงมติเห็นชอบกิจกรรมเพื่อสมาชิกสมาพันธ์​ฯ ซึ่งหากขับเคลื่อนสำเร็จจะเป็นประโยชน์แก่มวลสมาชิก และข้าราชการบำนาญทั่วประเทศ




       "พลังข้าราชการบำนาญภาคเหนือเดินหน้าขับเคลื่อนพัฒนาประเทศด้านการศึกษา" 


        เมื่อเวลา 13.00 น.วันที่ 18 มีนาคม 2566   ดร.ทนง ทศไกร ประธานสหพันธ์ข้าราชการบำนาญภาคเหนือ 16 จังหวัด เป็นประธานการประชุมข้าราชการบำนาญภาคเหนือ 16 จังหวัด ครั้งที่ 1/2566 ที่ห้องประชุมสมาคมข้าราชการบำนาญจังหวัดนครสวรรค์ 


          การประชุมครั้งนี้มีประเด็นสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้านการศึกษาหลายประเด็น โดยที่ประชุมได้มีมติให้นำเสนอปัญหาด้านการศึกษาให้พรรคการเมืองต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาข้าราชการบำนาญ 4 ประเด็น เช่น


           การขอตกเบิกเงิน ชคบ.ย้อนหลังให้สมาชิกข้าราชการบำนาญที่ลาออกจาก กบข.มารับบำนาญแบบปี 2494 ที่ได้เงินตกเบิกบำนาญ และเงินบำนาญย้อนหลังไปถึงวันที่เกษียณอายุราชการ แต่เงิน ชคบ.ที่ได้รับก่อนหน้านั้น ทั้งหมด 4 ครั้งไม่ยอมตกเบิกให้


             โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องให้สำเร็จ และมติที่ประชุมขอให้รัฐเร่งปรับเงิน ชคบ.ให้กับข้าราชการบำนาญ เพราะไม่ได้ปรับมาแล้วเกือบ10 ปี ขอให้รัฐแก้ไข พรบ.ผู้สูงอายุ ให้มีการปรับเงิน ชคบ.ทุกปี 




              อีกทั้งขอให้รัฐบาลแก้ไขสูตรการคิดคำนวณ พรบ.บำเหน็จบำนาญทั้ง 3 ฉบับ ได้แก่ พรบ. บำเหน็จบำนาญ 2494 พรบ.กองทุนบำเหน็จบำนาญ 2539 และพรบ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถื่น ปี 2500 ให้ใช้สูตรการคำนวณหารด้วย 30 


               และในการประชุมข้าราชการบำนาญภาคเหนือ 16 จังหวัดในครั้งนี้ ได้มีมติเสนอให้สรรหาพรรคการเมืองที่ใส่ใจ และมีความจริงใจ ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาด้านการศึกษา เป็นเจ้าภาพดำเนินการแก้ปัญหาทั้ง 4 ประเด็นดังกล่าว ในการจัดตั้งรัฐบาลสมัยหน้านี้ให้สำเร็จ


               ติดตามประมวลภาพส่วนหนึ่งได้ที่เว็บลิงค์ https://m.facebook.com/groups/508338716343704/permalink/1582781675566064/?mibextid=Nif5oz

เผยผลการเลือกตั้งผู้แทนสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัด ประเภทผู้แทนเกษตรกร ในเขตเลือกตั้งของอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ เขต 1 และเขต 2​ แบบไม่เป็นทางการ

 

     เผยผลการเลือกตั้งผู้แทนสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัด ประเภทผู้แทนเกษตรกร ในเขตเลือกตั้งของอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ เขต 1 และเขต 2​ แบบไม่เป็นทางการ ....

          เมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ 19​ มีนาคม 2566 ณ ศาลาประชาคมอำเภอเมืองเพชรบูรณ์​ นายปกรณ์​ ตั้งใจตรง นายอำเภอเมืองเพชรบูรณ์​และคณะได้จัดให้การนับคะแนนเลือกตั้งผู้แทนสมาชิกสภาเกษตรกร ซึ่งปรากฏผลอย่างไม่เป็นทางการคือ เขตเลือกตั้งที่ 1​ ผู้ได้คะแนนสูงสุด  จำนวน 3,485 คะแนน คือ นายเทพ เพียมะลัง   ส่วนผลการเลือกตั้ง ของเขตเลือกตั้งที่ 2 อย่างไม่เป็นทางการ ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด คือ นายจรุง เหล็กสีนาค ได้ 3,621 คะแนน

         




          ทั้งนี้ ในแต่ละเขตการเลือกตั้ง มีผลการนับคะแนนแยกเป็นเขตเลือกตั้ง ดังนี้  เขตเลือกตั้งที่ 1 หมายเลข 1 นายมงคล พุฒจันทร์ ได้ 792 คะแนน   หมายเลข 2 นายอภิวรรธน์ ขีดวัน ได้ 979 คะแนน    หมายเลข 3 นายวิฑูรย์ รำเจริญ ได้ 401 คะแนน   หมายเลข 4 นายเทพ เพียมะลัง ได้ 3,485 คะแนน และ​หมายเลข 5 นายเสถียร เม่นบางผึ้ง ได้ 1,594 คะแนน



           สำหรับเขตเลือกตั้งที่ 2 หมายเลข 1 นายจรุง เหล็กสีนาค ได้ 3,621 คะแนน และหมายเลข 2 นายสงกา จันแล ได้ 1,656 คะแนน​

            โดยจะมีการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการต่อไป

Sunday, March 19, 2023

พิธีถวายราชสักการะและกล่าวถวายราชสดุดี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันท้องถิ่นไทย ประจำปี 2566

 



จังหวัดเพชรบูรณ์จัดงานวันท้องถิ่นไทย ประจำปี 2566 …. เมื่อวันเสาร์ที่ 18 มีนาคม 2566 เวลา 09.00 น. นายกฤษณ์  คงเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ มอบหมายให้นายสุเมธ  ธีรนิติ  รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นประธานพิธีถวายราชสักการะและกล่าวถวายราชสดุดี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  เนื่องในวันท้องถิ่นไทย ประจำปี 2566 โดยมีนายชัชวาลย์  เบญจสิริวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์  นายชนก มากพันธุ์  รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์  พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภา ข้าราชการ และบุคลากรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเพชรบูรณ์ เข้าร่วมพิธี  เพื่อเป็นการรำลึกถึง พระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  และเพื่อให้สาธารณชนได้เห็นความสำคัญของการปกครองส่วนท้องถิ่น อันเป็นรากฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ตลอดจนเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ผู้บริหารท้องถิน สมาชิกสภา ข้าราชการ และบุคลากรในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ณ ลานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ศูนย์ราชการจังหวัดเพชรบูรณ์



          ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติกำหนดให้วันที่ 18 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันท้องถิ่นไทย เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงมีพระบรมราชโองการให้ยกฐานะตำบลท่าฉลอมขึ้นเป็นสุขาภิบาลท่าฉลอม เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2448 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการกระจายอำนาจการปกครองให้แก่ประชาชน และเป็นการถือกำเนิดของการปกครองส่วนท้องถิ่นครั้งแรกในประเทศไทย และเป็นแกนหลักในการพัฒนาท้องถิ่นให้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างแท้จริง นำความภาคภูมิใจมาสู่ปวงชนชาวไทย ตราบจนถึงปัจจุบัน

            ติดตามประมวลภาพส่วนหนึ่งได้ที่เว็บ https://www.facebook.com/groups/508338716343704/permalink/1582036082307290/

เตรียมพบกับงานเทศกาลดนตรีกลางขุนเขาที่ทุกคนรอคอย! Chang Music Connection presents OVERCOAT MUSIC FESTIVAL 2024 ครั้งที่ 14

  เตรียมพบกับงานเทศกาลดนตรีกลางขุนเขาที่ทุกคนรอคอย! Chang Music Connection presents OVERCOAT MUSIC FESTIVAL 2024 ครั้งที่ 14 เตรียมพบกับงานเ...

บทความ